Intarafarm Phuket

ไข่มุก มี 3 แบบ

มุกมาเบ้  เป็นมุกแบบครึ่งซีก ไม่กลม

มุกอโกย่า เป็นมุกกลมขนาดเล็ก

มุกเซาท์ซี  เป็นมุกกลมขนาดใหญ่

กำเนิดไข่มุก

อัญมณีรูปทรงกลมมน สีนวลสวย แวววาว ผลิตจากหอย รู้จักกันในชื่อ “ไข่มุก” เป็นอัญมณีเพียงชนิดเดียวบนโลกใบนี้ที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตนั่นก็คือหอยมุก มนุษย์เรารู้จักไข่มุกมาเป็นเวลานานแล้วเชื่อกันว่ามีการค้นพบไข่มุกครั้งแรกในบริเวณตะวันออกกลาง ว่ากันว่าพระนางคลีโอพัตราทรงใช้ต่างหูมุกเป็นเครื่องประดับ และมักจะจุ่มต่างหูมุกลงไปในเหล้าองุ่นก่อนดื่มเพราะเชื่อว่าไข่มุกมีพลังช่วยคงความหนุ่มสาวเอาไว้ได้ และไข่มุกยังเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ สมัยโบราณเชื่อกันว่าไข่มุกเป็นของที่มีค่าสูงส่งเหมาะสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ตามนิยายปรัมปราหรือตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่าไข่มุกเป็นหยดน้ำตาแห่งความสุขของเทพธิดาที่หลั่งออกมาให้กับชะตาชีวิตของมนุษย์ ในอดีตไข่มุกที่ถูกนำมาเป็นเครื่องประดับมีเฉพาะไข่มุกจากธรรมชาติเท่านั้น จนเมื่อปี พ.ศ. 2436 มีผู้เพาะเลี้ยงหอยมุกสำเร็จคนแรกของโลกคือชาวญี่ปุ่น ชื่อ คิโคชิ มิกิโมโตะ     ไข่มุกไม่ใช่ไข่ของหอยมุก แต่ไข่มุกเกิดขึ้นจากวัศดุใดๆตกลงไป ในเนื้อหอย หรือฝาด้านในของหอยมุก ซึ่งเป็นหอยสองฝามีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม   มุกเป็นอัญมณีที่เกิดจากสารอินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิต เป็นอัญมณีอินทรีย์ (organic gems) ชนิดหนึ่งที่มีราคามากที่สุดเป็นที่นิยม และเป็นอัญมณีที่มีความสวยงามในตัวเอง มีความวาวแบบมุก (pearly) และการเกิดสีเหลือบ (iridescence) โดยไม่ต้องตกแต่งเจียระไน ไข่มุกบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 

ไข่มุกธรรมชาติ (natural pearl) คือไข่มุกเกิดขึ้นเองในหอยมุกซึ่งเป็นหอยสองฝามีทั้งชนิดน้ำจืดและน้ำเค็ม อาจเกิดเนื่องมาจากเซลล์เนื้อเยื่อเจริญปลายยอดชั้นนอก(mantle) บางส่วนหลุดเข้าไปในตัวของหอยมุกโดยบังเอิญหรืออาจเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่น เม็ดทรายขนาดเล็ก กรวด หนอนทะเล หรือตัวเบียน (parasite) ถูกพัดพาเข้าไปภายในตัวหอยมุก แล้วทำให้ตัวหอยมุกเกิดความระคายเคืองจนหลั่งสารที่เป็นชั้นมุกที่เรียกว่า nacre ออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นจนเป็นไข่มุก ในที่สุดจากโครงสร้างที่เป็นชั้น ๆ ของชั้นไข่มุกนี้เองที่ทำให้เกิดการหักเหและการสะท้อนกลับ เกิดการแทรกสอดของแสง (interference of light) ภายในชั้นต่าง ๆ จึงทำให้มองเห็นเป็นเหลือบมุก (orient) บนผิวมุก ดังนั้นโครงสร้างของชั้นมุกจึงมีความสำคัญมากต่อคุณภาพของไข่มุก ถ้าแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดอะราโกไนต์ (aragonite) ยิ่งบาง และเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้สมบัติการเหลือบมุกและความวาวสูง แต่ถ้าแผ่นอะราโกไนต์หนาเกินไปและเรียงตัวกันอย่างไม่เป็นระเบียบ จะทำให้ไข่มุกมีคุณภาพเหลือบมุก และความวาวต่ำเนื่องจากเกิดการแทรกสอดแบบหักล้างกันในคลื่นแสง ดังนั้นความสวยงามของผิวมุกอยู่ที่ความละเอียด และความหนาชั้น nacre ของไข่มุก ยิ่งชั้นมุกมีความหนามากไข่มุกก็จะมีความวาวมาก 

ไข่มุกเลี้ยง (cultured pearl) มุกแบบมีนิวเคลียส นิยมใช้ผลิตมุกน้ำเค็ม  โดยการสร้างวัสดุรูปทรงต่างๆจากเปลือกหอยเราเรียกว่า เม็ดนิวเคลียส ( Nucleus ) แล้วทำการผ่าตัดใส่เข้าไปในตัวหอยซึ่งหอยจะรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดความระคายเคือง หอยมุกก็จะสร้าง  แผ่น Nacre เช่นเดียวกับเปลือกภายในหอยมุกมาห่อหุ้ม  nacre จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเคลือบนิวเคลียสที่เป็นแกนกลางภายในถุงมุก (pearl sac) เมื่อเวลาผ่านไปจะได้มุกกลมสวยงาม การผลิตมุกแบบนี้ต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือในการผ่าตัดฝังนิวเคลียส โดยอาศัยเครื่องมือพิเศษ ตำแหน่งที่ฝังแกนกลางและเนื้อเยื่อในหอยมุกทะเลคือบริเวณที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ (gonad) ซึ่งไข่มุกส่วนมากในท้องตลาดปัจจุบันล้วนเป็นไข่มุกเลี้ยงทั้งสิ้น โดยไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม จะมีลักษณะค่อนข้างกลมและมีขนาดใหญ่ มีสีและความวาวที่สวยงาม และหอยมุกน้ำเค็มสามารถผลิตไข่มุกได้เพียงครั้งละ 1-2 เม็ดเท่านั้น มุกที่เลี้ยงในฟาร์ม มี 3 ชนิด ดังนี้

มุกอโกย่า มุกกลมขนาดเล็ก 2-8 มม. ชื่อภาษาไทย : หอยมุกแกลบ หอยมุกกระจิ หอยมุกกระแจะ ชื่อวิทยาศาตร์ : Pinctada Fucata 

มุกเซาท์ซี มุกกลมขนาด 8 มม. ขึ้นไป ชื่อภาษาไทย : หอยมุกจาน ชื่อวิทยาศาตร์ : Pinctada Maxima ชื่อสามัญ : Silver lipped หรือ Gold lipped

มุกซีก หรือ มุกมาเบ้    ชื่อภาษาไทย : หอยมุกกัลปังหา หอยมุกกวาง หอยปีกนก ชื่อวิทยาศาตร์ : Pteria Penquin ชื่อสามัญ : Golden Wing หรือ Black Wing  เรานำเม็ด นิวเคลียส ติดแกนมุกซีกที่ฝาด้านในของเปลือกฝาด้านใน

สมบัติของไข่มุก

ชั้นผิวของหอยมุกที่มีความวาว ( Nacre) ยิ่งชั้นมุกมีความหนามากไข่มุกก็จะมีความวาวมาก โดยปกติมุกจะมีสีขาวเหลือบสีรุ้งเล็กน้อยจนถึงขาวนวล แต่ก็มีสีอื่น ๆ อีก เช่น ชมพู เงิน ครีม ทอง เหลือง เทา และดำ เป็นต้น โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของหอยมุก น้ำ และสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่หอยมุกอยู่อาศัย

2.1 สมบัติทางกายภาพ

ดรรชนีหักเห (RI) 1.53-1.68 

  ความถ่วงจำเพาะ (SG) 2.67-2.71 (มุกเลี้ยง 2.75) 

  ความแข็ง  3.5-4.0 

  ความวาว ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของชั้นมุก (nacreous layer) และการผ่านแสง การเหลือบมุก 

2.2 องค์ประกอบทางเคมี

แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ซึ่งปกติจะเป็นแร่ aragonite80 % 

  โปรตีนคอนไคโอลิน (conchiolin) 10 – 14 % 

  น้ำและอื่น ๆ      2 – 4 % 

  โปรตีนคอนไคโอลินทำหน้าที่เชื่อมประสานรอยต่อระหว่างแผ่นอะราโกไนต์เล็ก ๆ ให้ติดกันเป็นชั้นของมุก และทำให้มุกมีสีที่แตกต่างกันไปตามชนิดของโปรตีน 

3. สาเหตุการเกิดสีของไข่มุก มีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่

3.1  การเลี้ยวเบนและแทรกสอดของแสงในชั้น necre เช่น มุกสีชมพู สีครีม 

3.2  รงควัตถุของสารที่เป็นโปรตีนในชั้นมุก เช่น มุกสีทอง สีดำ 

3.3  สารอินทรีย์ที่แทรกอยู่ระหว่างชั้นของนิวเคลียสและชั้น necre เช่น มุกสีฟ้า สีเทา 

4. สีของไข่มุก ประกอบด้วย 2 ส่วน

4.1  body color ซึ่งเป็นสีพื้นของไข่มุกเม็ดนั้น 

4.2  overtone color หมายถึง สีอื่น ๆ ที่เห็นเกิดจากการเลี้ยวเบนและการแทรกสอดของแสงผ่านชั้นต่าง ๆ ที่ผิวของไข่มุก เช่น สีขาวอมชมพู body color คือ ขาว overtone คือ ชมพู 

5. การปรับปรุงคุณภาพไข่มุก

ไข่มุกน้ำจืดที่คัดคุณภาพเพื่อเป็นอัญมณีต้องมีสีสันสวยงามแวววาว บางครั้งจึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ (enhancement) เพื่อให้มุกมีสีสันหลากหลายขึ้น โดยวิธีการที่ใช้ได้แก่ การย้อมสี (dyeing) การฟอกสี (bleaching) และการฉายรังสี (irradiation) 

ไข่มุกก่อนและหลังการฉายรังสีแกมมา

ไข่มุกแห่งอันดามัน “มุกภูเก็ต” สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดภูเก็ต            “มุกภูเก็ต” คือมุกที่มีสีโทนขาว ครีม ชมพู ถึงเหลืองทอง มีประกายแวววาว ได้จากกระบวนการผลิตสืบต่อกันมาของชาวประมงที่เลี้ยงหอยมุกบริเวณรอบเกาะภูเก็ต และ เกาะบริวารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นทะเลฝั่งอันดามันมีการขึ้นลงของน้ำทะเลวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) ทำให้น้ำแถบอันดามันสะอาดและมีการพัดพาของตะกอนสารอินทรีย์ มีความสมบูรณ์ของแพลงตอนเป็นอาหารสำหรับหอยมุก และมีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหอย ทำให้มีอัตราการรอดของมุกสูง จึงสามารถทำฟาร์มและผลิตไข่มุกน้ำงาม คุณภาพดีออกจำหน่ายไปยังทั่วโลกได้   

ขอขอบคุณข้อมูลทางวิชาการจากแหล่งที่มา 

  • ไข่มุก อัญมณีแห่งความบริสุทธิ์ที่สตรีทั่วโลกหลงใหล โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • ทัศนีย์ เจริญนาม ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การ)
  • สุรีย์ ลิขิตตชัย. เอกสารประกอบการสอนหลักสูตรอัญมณีศาสตร์และเครื่องประดับ เล่ม 3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
  • Mikimoto-pearl-museum. 2007. How Cultured Pearls are Produced. Available Source. http://www.mikimoto-pearl-museum.co.jp/en/shikumi/top.html
  • Bedo Thailand

ใบอนุญาตฟาร์ม